ผศ. พญ. รัชนี  แซ่ลี้ อายุรแพทย์โรคหัวใจ

โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยและผู้ที่มีสุขภาพดีออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และการวิ่งถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายและได้ประโยชน์มากที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดงานวิ่ง(มาราธอน)เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีผู้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และเรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตฉับพลันขณะวิ่งอยู่เป็นระยะ  จึงเกิดคำถามว่าเราควรจะต้องตรวจหัวใจอย่างไรก่อนวิ่ง ควรไปพบแพทย์ก่อนวิ่งหรือไม่ ดังนั้นหัวข้อของบทความนี้ได้มีการวงเล็บ(มาราธอน) เอาไว้เนื่องจากผู้เขียนต้องการให้แยกระหว่างการวิ่งปกติกับการวิ่งมาราธอน เนื่องจากมีข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์บ่งชี้ว่าการวิ่งในระยะเวลานานๆ และระยะทางไกล ที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อหัวใจได้ ดังตัวอย่างของ McCullough  Mayo Clin Proc. 2012;87(6):587-595 ได้ทำการศึกษา Cardiac MRI ในกลุ่มนักวิ่งมาราธอนที่วิ่งมาเป็นระยะเวลานานและวิ่งระยะทางไกล เช่น อัลตร้ามาราธอน ไตรกีฬา พบว่ามีการขยายตัวของหัวใจห้องบนขวาและห้องล่างขวาหลังจากจบการวิ่ง และใช้เวลาเป็นสัปดาห์จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ และยังพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับเอนไซม์ที่บ่งชี้ถึงการอักเสบของหัวใจ และนำมาซึ่งแผลพังผืดของกล้ามเนื้อหัวใจส่งผลถึงการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงถึงเสียชีวิตฉับพลันได้ และสอดคล้องกับอีกหลายการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการวิ่งระยะไกลเป็นเวลานานเกินไป เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบหัวใจเต้นระริก (atrial fibrillation) กล้ามเนื้อหัวใจโต รวมถึงความเสื่อมของหลอดเลือดที่เร็วขึ้น  ทั้งนี้พบว่าความสัมพันธ์ของการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็น U shape คือจะเกิดอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นมื่อวิ่งด้วยอัตราเร็วมากๆ เป็นระยะทางไกลและเป็นเวลานาน แต่หากวิ่งในระยะทางสั้นๆ ด้วยอัตราเร็วไม่มากเกินไป อย่างสม่ำเสมอ กลับเป็นผลดีกับสุขภาพหัวใจ ดังรูป

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการเตรียมพร้อมสุขภาพหัวใจก่อนจะไปวิ่งสำหรับกลุ่มบุคคล 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ยังไม่เคยมีประวัติการเจ็บป่วย และกลุ่มที่มีประวัติการเจ็บป่วยโรคหัวใจ สำหรับผู้ที่มีประวัติเจ็บป่วยโรคหัวใจมาก่อนหากสนใจจะเริ่มวิ่ง แนะนำให้ปรึกษาอายุรแพทย์ทางด้านหัวใจที่ดูแลอยู่ประจำก่อนว่าสามารถวิ่งได้หรือไม่และวิ่งได้ในระยะและความหนักเท่าใดเนื่องจากโรคหัวใจมีหลายประเภท จำเป็นต้องได้รับการประเมินก่อนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงจะสามารถออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย

ส่วนกลุ่มคนที่ยังไม่เคยเจ็บป่วยโรคหัวใจมาก่อน จำเป็นต้องแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคหัวใจ กลุ่มเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มเสี่ยงต่ำ ซึ่งเราจะประเมินตามคะแนนความเสี่ยง risk score ตามอายุ เพศ กรรมพันธุ์ ผลเลือด โรคประจำตัว น้ำหนัก รอบเอว ความดันโลหิต ปัจจุบันมีการจัดทำ  risk score และเครื่องมือช่วยคำนวณ ของประเทศไทยก็มี Thai CV risk score ซึ่งพัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี Thai CV risk score (mahidol.ac.th) สามารถดาวน์โหลด application ผ่าน app store และ google play ซึ่งจะคำนวณความเสี่ยงออกมาว่าเราอยู่ในกลุ่มใด

หากผลการคำนวณออกมาว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงปานกลางถึงสูง อาจมีความจำเป็นต้องตรวจหัวใจก่อนไปออกกำลังกายหนักเนื่องจากบางครั้งโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นไม่ได้แสดงอาการขณะพัก แต่จะแสดงอาการขณะออกแรงอย่างหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้นขณะออกกำลังกายได้ ซึ่งคำแนะนำการตรวจมักจะพิจารณาโดยอายุรแพทย์โรคหัวใจ และมักเป็นการตรวจชนิด non invasive test เช่น echocardiography, stress echocardiography,  exercise stress test, computer scan of coronary artery, cardiac MRI เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีความเจ็บป่วยโรคหัวใจซ่อนอยู่หรือไม่ รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มนี้หากจะเริ่มออกกำลังกายคงแนะนำให้เริ่มออกกำลังกายเบาๆ ก่อนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เฉลี่ยประมาณ 75-150 นาทีต่อสัปดาห์

หากผลการคำนวณออกมาว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำอาจไม่ต้องทำการตรวจเพิ่มเติม  แต่มักมีคำถามว่าถ้าต้องการทราบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขณะออกกำลังกายหรือไม่ เช่นนักวิ่งที่วิ่งอยู่แล้วสุขภาพแข็งแรงดี มีการตรวจอะไรที่พอจะบอกได้หรือไม่ว่า นักวิ่งที่สุขภาพดีมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะออกกำลังกายได้บ้าง ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจที่แม่นยำพอที่จะบ่งชี้ว่าบุคคลใดมีโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าว แต่มีการศึกษาที่พยายามหาเครื่องมือที่บอกถึงโอกาสเกิดปัญหา เช่นการวัด Calcium score ในหลอดเลือดหัวใจโดยใช้ computer scan หากพบว่าระดับสูงว่า 300-400 ถือว่ามีความเสี่ยงสูง การตรวจ cardiac MRI  เพื่อดูแผลพังผืดของกล้ามเนื้อหัวใจ ความหนากล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อดูโอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่มักใช้เฉพาะในงานวิจัยเนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผลและค่าตรวจที่ราคาสูง

โดยสรุปการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง นับเป็นสิ่งที่ดีและทำให้สุขภาพดีโดยองค์รวม แต่จำเป็นต้องกระทำอย่างพอดีและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา ทั้งนี้บทความนี้ไม่สามารถนำไปใช้กับนักกีฬามืออาชีพ นักวิ่งมาราธอน เนื่องจากนักกีฬากลุ่มดังกล่าวมีความจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมและควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การกีฬา

บทความก่อนหน้านี้ตอบคำถามที่พบบ่อยในการเรียนกู้ชีพ
บทความถัดไปรวมคลิปVDO สอนการกู้ชีพขัั้นพื้นฐาน