นพ.วิสุทธิ์ เกตุแก้ว

อาจารย์พิเศษหน่วยดรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

รู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่ได้เป็นลม หรือเมา หรือเป็น stroke? เราจะไปปั๊มผิดคนไหม?

ผมคิดว่าคำถามนี้สำคัญมาก ๆ ครับ การที่เราลังเลว่า “เอ๊ะ เขาเป็นลม เขาเป็นอะไรหมดสติไป อย่างนี้เราต้องปั๊มหรือเปล่า?” มันจะทำให้เราดีเลย์ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยไป

ผมมีผู้ป่วยที่เสียโอกาสในการปั๊มหัวใจไปหลายคน เพราะว่าผู้ช่วยเหลือ ไม่แน่ใจว่าต้องปั๊มไหม ทำให้ผู้ป่วยสมองขาดเลือด แล้วก็เสียชีวิต

ดังนั้น สำหรับคำตอบของคำถามแรก ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นจะต้องไปแยกว่าเขาเป็นลม เป็น Stroke หรือเป็นอะไร ขอแค่เราปลุกเขาไม่ตื่น แล้วเราดูแล้วว่าเขาหายใจไม่ปกติหรือไม่หายใจ เราก็เรียกขอความช่วยเหลือและปั๊มหัวใจได้เลยนะครับ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแยกโรคตอนนั้น

ตอนกู้ชีพ จะต้องเปิดเสื้อขึ้นไหม? 

ถ้าเป็นคนไข้ผู้ชายจะไม่มีปัญหาจริงไหมครับ เราทุกคนก็เปิดเสื้อตรวจหน้าอกได้ ทีนี้ในผู้หญิงที่ล้มหมดสติไปเนี่ย ทางคำแนะนำก็ยังให้เปิดเสื้อดูนะครับ สาเหตุที่ให้ทำ เพราะว่าเวลาเราใส่เสื้อ บางทีผู้หญิงจะมีเสื้อชั้นใน แล้วก็จะมีสร้อย จะมีเครื่องประดับเยอะ อันนี้เวลาที่เราจะกดหน้าอก เราจะต้องทำการหาตำแหน่งในการกดหน้าอก คือดูกระดูกกลางหน้าอก เพราะฉะนั้นเถ้าเราไม่เปิดเสื้อแล้วเราไปกดตรงนี้ บางครั้งตำแหน่งคลาดเคลื่อนไป ทำให้เรากดหน้าอกได้ไม่ดีพอ (และตอนใช้เครื่อง AED ก็ต้องเปิดเสื้ออยู่ดี)

ดังนั้นในผู้ป่วยที่ล้มหมดสติ แล้วก็ปลุกไม่ตื่นทุกราย ต้องเปิดเสื้อแล้วก็ทำการช่วยชีวิตนะครับ

การหาตำแหน่งกดในผู้หญิงทำอย่างไร?

จริง ๆ ตำแหน่งการกดหน้าอกในผู้หญิงกับผู้ชายไม่ต่างกัน ก็คือบริเวณครึ่งล่างของกระดูกกลางหน้าอกนะครับ วิธีดูก็คือ เราเปิดเสื้อ และดูตรงบริเวณคอหอย แล้วก็ดูบริเวณลิ้นปี่นะครับ ระหว่างกลางนั้นคือกระดูกกลางหน้าอก

เราก็จะวางส้นมือที่บริเวณครึ่งล่างของกระดูกกลางหน้าอก ซึ่งผู้ป่วยจะเป็นผู้หญิงผู้ชายหรือคนไข้ผ่าตัดเสริมหน้าอก คนไข้ผ่าตัด bypass หัวใจ หรือผ่าอะไรมาก็ตามที่หน้าอกก็จะต้องมีกระดูกชิ้นนี้อยู่ อย่างนั้นเราก็หาตำแหน่งให้ถูก แล้วก็วางมือกดหน้าอกที่เดียวกับผู้ชายได้เลยครับ

บริเวณครึ่งล่างของกระดูกหน้าอกเนี่ย มันจะอยู่ในระนาบเดียวกับแนวเส้นราวนมผู้ชาย ทีนี้ในผู้หญิง ที่บางทีอายุมาก หรือว่ามีการผ่าตัดเสริมหน้าอก เส้นราวนมนี้อาจจะคลาดเคลื่อนตำแหน่งไป ดังนั้น ผมแนะนำให้เราคลำหากระดูกกลางหน้าอก แล้วก็กดบริเวณครึ่งล่างของกระดูกกลางหน้าอกในกรณีผู้หญิงที่เส้นราวนมไม่อยู่ในตำแหน่งปกตินะครับ

ต้องเป่าปาก/ผายปอดไหม? 

ในสถานการณ์ช่วงโควิดและหลังโควิดช่วงนี้นะครับ ประชาชนที่เข้าทำการช่วยเหลือคนไข้ไม่จำเป็นจะต้องเป่าปากหรือช่วยหายใจนะครับ สามารถทำการกดหน้าอกช่วยชีวิต แล้วก็เรียกหาความช่วยเหลือได้เลยนะครับ (การกดหน้าอกที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยขับลมเข้าออกปอดเอง)

จะต้องคลำชีพจรไหม? 

ประชาชนผู้ช่วยเหลือ ไม่จำเป็นต้องคลำชีพจรของคนไข้เลย และแนะนำให้ประเมินสถานการณ์โดยการปลุกเรียกคนไข้ แล้วก็ดูการหายใจเป็นหลัก

การคลำชีพจร ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ในการคลำ บางครั้งจะยิ่งทำให้การช่วยเหลือเนี่ยถูกล่าช้าไปกว่าเดิมอีก (อาจจะคลำผิด นึกว่าคลำได้ คลำนานไป เป็นต้น) ดังนั้นสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องคลำชีพจรนะครับ

เราต้องดูว่าเขาหายใจหรือเปล่า?

ตามคำแนะนำทางวิชาการ ก็คือ ต้องดูการหายใจก่อนนะครับ ถ้าเราเห็นว่าเขาหายใจปกติเหมือนคนที่กำลังหลับอยู่ อันนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปั๊มหัวใจ แต่ว่าถ้าดูแล้วเขาหายใจไม่ปกติ ไม่หายใจ หรือมีการหายใจเฮือก หรือเราไม่แน่ใจว่าหายใจหรือไม่ ก็สามารถปั๊มได้เลยครับ

จะต้องปั๊มไปนานแค่ไหน? 

ผู้ช่วยเหลือจะต้องปั๊มหัวใจไปเรื่อย ๆ จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง การปั๊มหัวใจให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้แรงเยอะเหมือนกันนะครับ ดังนั้นถ้าเราปั๊มอยู่คนเดียว เราก็อาจจะเหนื่อยมากได้ โดยคำแนะนำให้เปลี่ยนคนปั๊มทุก 2 นาที หรือถ้าเกิดคนปั๊มเหนื่อยก่อน ก็สามารถแจ้งคนช่วยเหลือท่านอื่นมาเปลี่ยนก่อนได้

เราจะทำให้คนป่วยแย่ลงไหม? เช่น จะซี่โครงหักไหม?

ถ้าตอนนั้นเราไม่ปั๊มหัวใจ คนไข้อาจจะเสียชีวิต (ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงกว่ามาก) และการกดหน้าอกด้วยตำแหน่งที่ถูกต้องและท่าทางที่ถูกต้อง จะลดความเสี่ยงซี่โครงหักน้อยลงไปมาก

ผมมีคนไข้เหมือนกันที่ปั๊มหัวใจไปแล้วซี่โครงหักสองข้าง ต้องใส่สายระบายลมที่ปอดทั้งสองข้าง แต่สุดท้ายรอดชีวิตเดินกลับบ้านได้ ดังนั้นอยากให้ประชาชนเน้นเรื่องการปั๊มหัวใจเป็นหลักมากกว่ากังวลที่จะไปทำให้บอบช้ำนะครับ

การใช้เครื่อง AED จะทำให้ไฟฟ้าช็อคคนป่วยผิดหรือตัวเราเองไหม?

สำหรับเครื่อง AED ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ใช้งาน ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ตามกฎหมาย หลักการของเครื่อง AED คือ พอแปะแผ่นนำไฟฟ้าที่หน้าอกผู้ป่วยแล้ว เครื่องจะจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อไปวิเคราะห์นะครับ จะดูว่าจำเป็นต้องช็อตหรือไม่ต้องช็อตไฟฟ้า ถ้าคลื่นที่เครื่องวิเคราะห์เป็นคลื่นแบบที่ต้องช็อตไฟฟ้า เครื่องจะส่งสัญญาณมาบอกเราว่า จำเป็นต้องทำการช็อตไฟฟ้า ก็จะชาร์จไฟในตัวเครื่องให้เราเอง โดยจะมีเสียง ตื๊ด ยาว ๆ

ทีนี้เวลาก่อนที่เราจะกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า จุดนี้คือจุดที่สำคัญที่สุด เพราะว่าการที่เราจะปล่อยไฟ ถ้ามีคนช่วยเหลือหรือมีเพื่อนเราจับคนไข้อยู่ กระแสไฟอาจจะรั่วไปยังเพื่อนเราได้ ทำให้เพื่อนเราที่ช่วยเหลือถูกช็อตได้เหมือนกัน ดังนั้นอยากจะให้มั่นใจตรงนี้ก่อนว่า ก่อนที่จะกดปุ่มช็อตไฟฟ้า ต้องไม่มีผู้ช่วยเหลือที่อยู่ติดกับคนไข้ (บอกให้ทุกคนถอยห่าง) แล้วก็ต้องแจ้งให้รับทราบด้วยเสียงดัง ๆ ว่า กำลังจะช็อตไฟฟ้า นะครับ แล้วก็ค่อยกดปุ่มช้อตไฟฟ้า

ต้องใช้เครื่อง AED หรือไม่ แค่ปั๊มด้วยมือได้ไหม?

เครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก ที่จะต้องมีในการช่วยชีวิตผู้ป่วย เพราะว่าการปั๊มหัวใจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ถูกจังหวะ

ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ล้มหมดสติไป สาเหตุที่เกิดอันดับ 1 เลย คือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่อง AED จะทำการช็อตไฟฟ้าเพื่อรีเซ็ตกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติ แล้วก็เพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยให้มากขึ้นครับ

มีข้อห้ามในการใช้ AED ไหม?

ไม่ได้มีข้อห้ามโดยตรงในการใช้นะครับ แต่ว่ามีข้อควรระวัง อันดับแรกก็คือในผู้ป่วยที่จมน้ำหรือว่าร่างกายเปียกน้ำ เราจะต้องพาผู้ป่วยขึ้นมาจากแหล่งน้ำ แล้วก็อยู่ในบริเวณที่แห้งสนิทก่อน แล้วก็เช็ดบริเวณที่จะแปะแผ่นนำไฟฟ้าให้แห้ง ก่อนที่จะแปะแล้วก็ใช้เครื่อง AED

แล้วก็ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือ ในการแปะแผ่น AED ถ้ามีขนในบริเวณหน้าอกที่จะแปะเยอะ แล้วแผ่นไม่แนบสนิทกับผิวหนังคนไข้ อันนี้จะทำให้กระแสไฟฟ้าออกไปไม่ดี ดังนั้นคนไข้ที่มีขนบริเวณหน้าอกเยอะ อาจจะต้องมีการโกนขน หรือบอาจจะต้องมีการแว๊กซ์ขนก่อนที่จะใช้ AED นะครับ (ในโรงพยาบาลหรือรถฉุกเฉินมักจะมีอุปกรณ์พร้อม)

ผู้ป่วยจะรอดทุกรายไหม? เราควรคิดอย่างไรหากผู้ป่วยไม่ฟื้น?

เราต้องบอกก่อนนะครับว่า ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นแสดงว่าตัวโรคหัวใจของเขากำเริบหนักขึ้นมาอยู่แล้ว สมมติถ้าเราไม่ได้ทำการกู้ชีพ ไม่ได้ทำการช่วยเหลือเขาตอนนั้น โอกาสที่เขาจะรอดชีวิตก็มีแค่ 5-10% เท่านั้นเอง จากการศึกษาถ้าเรามีการช่วยเหลือตั้งแต่สถานที่เกิดเหตุ ทั้งการปั๊มหัวใจและใช้ AED โอกาสรอดชีวิตตรงนี้จะเพิ่มมา 40-50% และผู้ป่วยก็จะมีโอกาสได้กลับบ้านมากขึ้น

เวลาที่เราปั๊มหัวใจไปแล้วเนี่ย สมมติถ้าท้ายที่สุดแล้วคนไข้ไม่รอด ก็ไม่ต้องเสียใจนะครับ เพราะว่าอย่างที่ผมแจ้งให้ทราบว่าตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น ต้องเป็นหนักจริง ๆ หัวใจถึงจะหยุดเต้น ดังนั้นสิ่งที่เราทำ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยแล้ว เป็นการให้สิ่งที่ดีที่สุดให้คนไข้แล้ว ระหว่างที่รอทีมแพทย์และทีมพยาบาลมาถึง ก็อยากจะให้เราเห็นความสำคัญ แล้วก็ทำการช่วยเหลือและปั๊มหัวใจให้ผู้ป่วยกันต่อนะครับ

เรียนกู้ชีพวันนี้ แต่ถึงเวลาที่ต้องใช้จริงเราจะลืมไหม?

การเรียนกู้ชีพนะครับ ถ้าเราเรียนไปแต่เราไม่ได้ฝึกใช้ ไม่ได้ทบทวนบ่อย ๆ ก็มีโอกาสที่จะลืมได้ แล้วเวลาเกิดเหตุการณ์จริงก็จะมีความตระหนกตกใจ และทำไม่ถูก ดังนั้นผมแนะนำว่า ทางโครงการ 1669 CPR Run ของเราจะมีหุ่นและมี Workshop ที่จะประจำอยู่ตามที่ต่าง ๆ อยู่แล้ว และก็จะมีวิดีโอที่สามารถมาทบทวนได้ตลอดนะครับ ดังนั้นถ้าท่านไหนคิดว่าผ่านไปแล้ว 6 เดือน 1 ปี ถ้าอยากทบทวน ก็สามารถกลับมาอบรมเข้าโครงการมาดูใน Workshop ได้นะครับ ยิ่งเรายิ่งฝึก ยิ่งทำซ้ำบ่อย ๆ เราจะยิ่งเชี่ยวชาญ แล้วก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น เวลาเกิดเหตุการณ์จริงเราก็จะได้คล่องที่จะปฏิบัติการกู้ชีพนะครับ

หากประชาชนอยากเรียนรู้เรื่องการกู้ชีพเพิ่มเติม เช่นฝึก basic life support (BLS) course ..

มีสอนของมูลนิธิสอนช่วยชีวิต สามารถติดต่อได้ที่ http://www.thaicpr.org หรือ FB :TRC จะมีสอนเป็นรอบสำหรับประชาชน(ฟรี) แต่ถ้าเป็นองค์กร(จ่ายเงิน) สามารถติดต่อ TRC (Thai Resuscitation Council) จัดหาทีมไปสอนให้ได้และบริษัทรับสอน BLS

บทความก่อนหน้านี้เปิดกล่อง Garmin Forerunner 265S จิ๋วแต่แจ๋ว ครบทุกฟีเจอร์สำหรับนักวิ่ง
บทความถัดไปการตรวจสุขภาพหัวใจก่อนจะไปวิ่ง