จากก้าวแรกสู่มาราธอน | วันพักสำคัญยังไงกับนักวิ่ง (Chapter.20)

459

“วันพักถือเป็นการซ้อมอย่างหนึ่งนะ”


จำได้ว่ารุ่นพี่ในวงการวิ่งบอกแบบนั้น ในวันที่เราซ้อมวิ่งแบบไม่ลืมหูลืมตา ก็เพื่อหวังว่าเราจะ “วิ่งดีขึ้น” “พัฒนาขึ้น”

แต่…เปล่าเลย, เรากลับบาดเจ็บมากกว่าเดิม ร่างกายเจ็บ จิตใจก็เครียดลงตามไปด้วย ในสมองก็ยังคิดวนๆ เป็นวงกลม
เพราะยังมีงานวิ่งที่ลงไว้ มีเป้าหมายการวิ่งที่ตั้งไว้ และอยากทำให้ได้

ถ้าไม่อยากเจ็บ อยากให้ผลลัพทธ์ที่เราฝึกมาเห็นผล เราควรมีวันพัก หรือวัน recovery ในวงจรการวิ่งของเรา เราจำเป็นที่จะต้อง “ประเมิณ” ตัวเองทุกครั้งหลังวิ่ง “ควบคุม” ตัวเองขณะวิ่ง และ “วางแผนใหม่” เมื่อจะออกวิ่ง

สิ่งที่เราต้องเข้าใจเลย คือ ร่างกายมนุษย์จะ “พัฒนาตอนพัก” ไม่ได้พัฒนาตอนเรากำลังใช้งาน นั่นหมายความว่า คุณต้องมีวันพักจากการซ้อมวิ่ง การวิ่งทั้ง 7 วันในรอบสัปดาห์ ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายเราพัฒนา ผลอาจจะตรงข้ามเลยก็ได้ แถมอาการบาดเจ็บ อาการล้ามาให้อีก

กราฟประสิทธิภาพของเราตกลง เมื่อเราให้ความสำคัญกับการพักน้อย พักไม่เพียงพอ กลับสู่วงจรการซ้อมเร็วเกินไป
ร่างกายจะไม่เกิด compensation แปลง่ายๆ คือ จะไม่เกิดผลจากการที่เราออกกำลังกาย แนวโน้มที่เราจะเหนื่อยและล้ามีมากกว่าเดิม และเข้าสู่ Over training ได้ง่าย

ในนาฬิกาวิ่งของค่ายดังๆ ส่วนใหญ่ จะมี Recovery Time เป็นการคาดการณ์เวลา ที่ร่างกายต้องใช้ในการพัก และฟื้นฟูหลังออกกำลังกาย แล้วเวลาที่ต้องใช้พักล่ะ นานเท่าไหร่ เราจะรู้ได้ยังไง? ความฉลาดของนาฬิกาวิ่งจะคิดจาก
ระยะเวลาและความเข้มข้น จากการออกกำลังกายของเราเองนั่นล่ะ จะคำนวณเวลาที่เราต้องใช้พักออกมาให้

หากมองตามสภาวะอารมณ์ร่างกายเรา เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่า เรามีความสุข ความมั่นใจ มีความรักต่อคนรอบข้าง และสดใส แสดงว่าเรา recovery มาเพียงพอแล้ว เพราะเมื่อเราพักมาดี มีการซ้อมที่เหมาะสม ร่างกายจะหลั่งสาร เซโรโทนิน และโดปามีน ที่ทำให้เรารู้สึกดีต่อการทำกิจกรรมต่างๆ เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิต สิ่งเหล่านี้ล่ะ ที่ทำให้เราตอบโจทย์ความสุขจากการได้วิ่ง

“พักบ้าง” อย่าหักโหมกับการวิ่งจนเกินไป
เพราะเรายัง “วิ่งไปทั้งชีวิต” ค่ะ