วันนี้ชวนเพื่อนๆคุยเรื่องจริงจังท่ามกลางความหงุดหงิดของฟ้าฝนที่บรรจงตกในช่วงเย็น(ที่เราซ้อมวิ่ง)
เรื่องการเบรก ทุบ ขยี้ เป่า หรือจะใช้คำว่าอะไรก็ช่าง สำหรับสนามใหญ่ในสัปดาห์หน้าอย่างลอนดอนมาราธอน 2020 ที่ต้องเลื่อนมาจากต้นปีมาจัดเอาท้ายปีอย่างเหนียวคอ ซึ่งหากถามถึงการทำลายสถิติเพียวๆ ของนักวิ่งระดับนั้นบางครั้งดูไกลตัวเพื่อนๆไปสักหน่อยว่าไหม ในเมื่อเพื่อนๆที่ซ้อมวิ่งกันมาเหนื่ยแทบตายก็อยากได้สถิติส่วนตัวที่สวยกว่าเดิมกันทุกคน
ผมเลยมาช่วยตั้งคำถามคู่กันกับแมตซ์ที่ลอนดอนในอาทิตย์หน้า
นอกจากการซ้อมที่หนักหน่วง เป็นระบบและตรงกับแผนพัฒนาร่างกายซึ่งนักแข่งทุกคนต้องการผลลัพธ์ของหยาดเหงื่อและความพยายามที่จ่ายไปกับความเจ็บปวดของการซ้อม
“สนามแข่งดีๆ” นั่นคือคำตอบ
แล้วสนามแข่งที่ยอดเยี่ยมและเหมาะกับการทำสถิติดีๆมันควรมีปัจจัยพื้นฐานอะไรกันบ้าง ลองอ่านกันครับ
…Fast Course
คือลักษณะสนามที่เอื้อต่อการทำความเร็ว แน่นอนว่าต้องเรียบไม่ขรุขระ เนินชันน้อยๆเพราะมันกินแรงน่องเหลือเกิน มากกว่านั้นถ้าเป็นลงเนินได้นี่สวยเลย อิอิอิ แต่สนามระดับโลกที่มีมาตรฐานจะมีค่าลาดเอียงไม่เกิน 1 เมตรต่อระยะ 1 กิโลเมตรระหว่างเส้นสตาร์ทกับเส้นชัย ถ้ามาราธอนเส้นชัยจะต่ำกว่าเส้นสตาร์ทได้ไม่เกิน 42 เมตร
จุดให้น้ำและพลังงานต้องไม่บกพร่องเป็นเรื่องของการเซอร์วิส นักวิ่งจะได้เปรียบมากในการจัดแกนพลังงานให้เหมาะสม ที่ลอนดอนการวิ่งในสนามแบบ Loop Course หรือเป็นรอบๆ St. James’Park จำนวนเกือบยี่สิบรอบ (19.8 รอบ) ของคิปโชเก้และผองเพื่อนมันทำให้ง่ายต่อการจัดการทั้งของเหลว พลังงาน และการบริหารความเร็ว
หากเพื่อนๆเลือกสนามดีและได้เปรียบทั้งความชันและน้ำท่าอุดม โอกาสได้เวลาดีๆติดมือกลับบ้านก็ไม่ไกลเกินชะโงกหาล่ะครับ
…Pacer
การควบคุมจังหวะและความเร็ว การแข่งระยะไกลเน้นหนักที่การบริหารแรงให้สุดและหมดก็อกที่เส้นชัยแบบพอดีๆ ซึ่งมันจะเป็นสถานการณ์ที่เพอร์เฟคมากราวกับถูกหวยก็ไม่ปาน
เพซเซอร์ (Pacer) หรือผู้ช่วยกำกับความเร็วในสนามซึ่งชื่อไทยยาวเหยียดคนนี้จะเป็นคีย์แมนสำคัญในสนามสำหรับเพื่อนๆได้ดี เขาช่วยควบคุมไม่ให้เราใช้ความเร็วเกินโซน รักษาระดับความเร็วให้นิ่งและที่สำคัญที่สุด
มันช่วยให้การจ่ายพลังงานทำได้อย่างสม่ำเสมอและควบคุมจังหวะในช่วงต้นได้ดีไม่ให้ลั่นจนร่วงในช่วงท้าย
ลอนดอนปีนี้ประกาศ Pacers เป็นทางการ 8 คนจากสองสัญชาติคือเคนย่าและเครือจักรภพซึ่งในนั้นรวมโม ฟาร์ร่า เข้าไปด้วย โดยมีข่าว(ไม่เป็นทางการ)ว่าจัดเพซเซอร์ระดับสูงเอาไว้ 3 คนสำหรับการลากถูแกนนำมาราธอนในลอนดอนให้ทำลายสถิติโลกคาสนาม ซึ่ง3คนนั้นสั่งตรงมาจาก NN Running Team อันลือลั่น และเป็นต้นสังกัดของหัวขบวนสองคนทั้ง คิปโชเก้และเบเคเล่ ด้วยเวลาเป้าหมายที่ครึ่งทางด้วยเวลา 60:45-61:00 นาที นำขบวนโดย
Eric Kiptanui ที่มาพร้อมเวลา 58:42 นาทีในระยะฮาล์ฟ
Victor Chumo 60:05 นาที
Noah Kipkemboi 60:52 นาที
ส่วนเซอร์ โม ปีนี้ประกาศตัวช่วยเหลือเพื่อนนักวิ่งอังกฤษและยุโรปที่ต้องการผ่าน Olympic Qualification Time ให้วิ่งได้ต่ำกว่า 2:11:30 ชั่วโมงเพื่อสิทธิ์เป็นตัวแทนวิ่งในโอลิมปิกปีหน้า
หนึ่งในหน้าที่หลักของ Pacer เลยนั้นคือการถนอมแรงของเอส คิปโชเก้ที่อยู่ในเกมส์นี้บ่อยๆสามารถวิ่งในครึ่งหลังได้เร็วกว่าครึ่งแรกในแทบทุกครั้ง (ยกเว้นในการตั้งใจทำ Sub 2 Marathon ครั้งแรกที่มอนซ่า อิตาลี)
มันดีซะขนาดนี้ ถ้าเพื่อนๆอยากได้สถิติดีบ้างอย่าพลาดสนามที่จัดวิ่งแบบมี Pacer ให้กันนะ
…Weather
อาจเป็นสาเหตุให้นักวิ่งไทยนิยมพกธูปและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากมันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เอาเสียเลย ใครจะคิดว่าวันแข่งจะมีอุณหภูมิ 30 ในหน้าหนาวอย่างบางแสนเมื่อหลายปีก่อน หรือถ้าให้ชัดลดูบอสตันมาราธอนปี 2018 อยู่ดีๆอากาศก็ติดลบแถมฝนกระหน่ำนี่มันมาราธอนพายุดีๆนี่เอง
สถิติดีๆเกิดในอากาศเย็นได้ง่ายโดยเฉพาะแถวๆ 10-18 °C ปัจจัยหลักเลยเป็นระดับที่เหมาะสมกับการระบายความร้อนของร่างกาย การวิ่งมาราธอนนั้นใช้แหล่งพลังงานจากแอโรบิกเป็นหลัก ซึ่งผลจากการใช้พลังงานคือความร้อน การระบายมันออกได้ดีทำให้ร่างกายลดภาระการทำงานของระบบหมุนเวียนเลือดได้มาก
ตอนแอดไปยืนเชียร์คิปโชเก้ที่เบอร์ลิน วันรับบิบอากาศ 23 °C เกือบร้อน แต่พอวันแข่งลดเหลือ 12 °C เฉยเลย และพี่คิปก็วิ่งได้สถิติโลกแบบทุบของเก่าไป 78 วินาทีซึ่งมากที่สุดในมาราธอนยุคหลังปี 2000 เป็นต้นมา
นักวิ่งเตรียมพร้อมสุดๆแค่ไหน ดัชนีสุดท้ายคือสภาพอุณหภูมิและความชื้นสนามที่จะตัดสินแผนการออกวิ่งนั่นเลย
เป็นเหมือนกันหมดไม่ว่าจะ อีลิท ทีมชาติ แนวหน้าหรือนักวิ่งหัดใหม่ก็ตาม
ลอนดอนปีมาราธอนย้ายมาจัดตุลาคม แต่อากาศที่นี้ได้ชื่อว่าแปรปรวนตลอดปีอยู่แล้ว จากใจคอมาราธอนเลย พวกเราหวังว่าฝนจะไม่กระหน่ำลงมาจนวงแตกก็น่าดีใจมากๆแล้ว
ซึ่งคิปโชเก้และเบเคเล่รวมถึงฮิวจ์ บราเชอร์ในฐานะผู้จัดเองก็คงภาวนาไม่ต่างจากเราเหมือนกัน
การเลือกสนามที่ดี ได้มาตรฐานตามหลักการ 3 ข้อด้านบน น่าจะช่วยให้เกมส์วิ่งมาราธอนเพื่อสถิติเวลาทำได้ดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นเล็กน้อยที่นักวิ่งต้องคำนึงอีกหลายอย่างเลยนะ
ที่พัก บางทีตัดสินแชมป์เลย กรุงเทพมาราธอนปีหนึ่งมีนักวิ่งเคนย่าหวังโพเดี้ยมแต่ดันจองที่พักแถววัดชนะสงคราม ซึ่งติดกับถนนข้าวสาร เช้ามืดเลยต้องวิ่งเหมือนคนไม่ได้นอน ตอนคุยกันแอดแอบขำหน้าเบี้ยวเลยอ่ะ
กองเชียร์ พวกเขาคือมือที่มองไม่เห็นคอยดุนหลังเราเวลาอ่อนล้าเสมอ สนามไหนเชียร์เต็มนักวิ่งก็เต็มที่เหมือนกัน
การเตรียมตัว อาหาร การพักผ่อน ความผ่อนคลายความตึงเครียดเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้เรื่องสนาม
การเตรียมตัวซ้อมและวางแผนอย่างดีแทบจะสูญหายเลยทีเดียวหากละเลยปัจจัยข้างต้นทั้งหมดนี้
ด้วยความปราถนาดีจากทีมไทยรันครับ