นักวิ่งหลายคน คงมีอาการบาดเจ็บระหว่างการวิ่งหรือหลังจากการวิ่ง เช่น อาการปวดน่อง การเกิดตะคริวระหว่างวิ่ง ปวดใต้ฝ่าเท้า ปวดข้อเข่า ปวดข้อเท้า เป็นต้น1 เมื่อคุณมีอาการเหล่านี้ คุณใช้วิธีใดในการรักษาบ้างคะ?
ปล่อยอาการเหล่านี้ไว้ ให้อาการหายไปเอง ออกกำลังกายซ้ำ หรือการนวด และบางคนอาจจะนึกถึงการรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การยืดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวดหรือลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การประคบเย็น เพื่อลดอาการอักเสบหลังจากการวิ่ง การติดเทป เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวหรือเพื่อลดปวด ลดบวม เป็นต้น
แต่แท้จริงแล้ว การรักษาด้วยวิธีการกายภาพบำบัดนั้น มีเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ช่วยในการรักษา โดยไม่ต้องพึ่งการใช้ยาต่างๆ มากมาย เช่น เครื่องผลิตคลื่นเหนือเสียงเพื่อรักษาหรือเครื่องอัลตราซาวด์ (ultrasonic therapy machine) เครื่องกระตุ้นกระแสไฟฟ้า (electrical stimulator) เครื่องผลิตแสงเลเซอร์กำลังต่ำ (low power laser unit) เครื่องกำเนิดความร้อนลึกด้วยคลื่นสั้น (shortwave diathermy machine) เครื่องกำเนิดความร้อนลึกด้วยคลื่นไมโคร (microwave diathermy machine) เป็นต้น2 วันนี้เรามาทำความรู้จักเครื่องมือรักษาทางกายภาพบำบัดเหล่านี้กันค่ะ
1. เครื่องอัลตราซาวด์ (ultrasonic therapy machine) เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่นิยมใช้มากที่สุด หลายคนเคยได้เห็นและได้ใช้กันบางแล้ว แต่ยังไม่รู้จักหน้าที่ว่าเจ้าตัวนี้ สามารถลดอาการปวด ซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้อย่างไร
อัลตราซาวด์เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงมาก หูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน ความถี่ที่นิยมใช้ทางกายภาพบำบัดมากที่สุดคือ ความถี่ 1 และ 3 MHz มีหัวของอัลตราซาวด์เป็นตัวส่งผ่านคลื่นเสียงลงบนผิวหนังบริเวณที่รักษา และผ่านตัวกลางที่เป็นของเหลวหรือน้ำ เพื่อให้คลื่นเสียงหักเหบริเวณที่รักษา ไม่เกิดการสะท้อนกลับเข้าสู่หัวอัลตราซาวด์
ส่วนใหญ่นักกายภาพบำบัดจะใช้เจลเป็นตัวกลาง เจลจะมีลักษณะเดียวกับเจลที่แพทย์ใช้อัลตราซาวด์บริเวณท้อง ขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความหนืด สามารถเคลื่อนหัวอัลตราซาวด์บนผิวหนังบริเวณที่ต้องการได้ดี คลื่นอัลตราซาวด์มีกลไกโดยกระแสไฟฟ้าผ่านผลึกควอตซ์ที่อยู่ที่หัวของอัลตราซาวด์จะเกิดการสั่นสะเทือนที่ความถี่จำเพาะและเปลี่ยนเป็นพลังความร้อนลงบริเวณเนื้อเยื่อที่รักษา คลื่นอัลตราซาวด์สามารถลงได้ลึกถึงระดับเนื้อเยื่อ (ลึกประมาณ 2-5 เซนติเมตร) โดยผลของอัลตราซาวด์ทำให้เกิดความร้อน (thermal effect) ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดอาการปวด ลดอาการอักเสบได้ และเกิดการสั่นสะเทือน (non-thermal effect) เพื่อช่วยลดอาการบวม เช่น ในนักวิ่งที่ข้อเท้าแพลง เกิดอาการบวมใน 2-3 วันแรก เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถช่วยกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมการบาดเจ็บได้เร็วขึ้นอย่างไรก็ตาม อัลตราซาวด์มีประสิทธิภาพการรักษาสูง แต่อาจเกิดความเสี่ยงได้ เช่น การพอง เนื่องจากการใช้ความเข้มที่ไม่เหมาะสม หรือคลื่นอัลตราซาวด์สะสมบริเวณนั้นนานเกินไป3, 5
2. เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (electrical stimulator) ทางกายภาพบำบัดมีการใช้กระแสไฟหลายกระแส ดังนี้
2.1 กระแสไฟฟ้าแบบ interrupted direct current (IDC) เป็นกระแสไฟตรงที่ปล่อยออกมาเป็นช่วงๆ สามารถปรับช่วงกระตุ้นได้ ทำให้มีการหดตัว-คลายตัวของกล้ามเนื้อเป็นจังหวะและสามารถกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยงได้
2.2 กระแสอินเตอร์เฟอเรนท์เชียล (IFC) เป็นกระแสไฟสลับ เป็นการปล่อยคลื่นมาแทรกสอดกัน มีช่วงกระตุ้นแคบ ความถี่สูง สามารถผ่านชั้นผิวหนังและชั้นกล้ามเนื้อได้ลึก ขณะกระตุ้นจะรู้สึกสบาย ใช้เพื่อลดอาการปวด ลดบวม หรือลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

2.3 กระแสไฟชนิดศักย์สูง (high voltage galvanic current (HVGC)) กระแสไฟที่มีช่วงกระตุ้นสั้นมาก มีความต่างศักย์สูง จึงสามารถกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกสัมผัสได้ เพื่อช่วยลดอาการปวด ลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ลดบวมได้
2.4 กระแสชนิดกระตุ้นเส้นประสาทผ่านผิวหนัง (transcutaneous electrical nerve stimulation (TENS)) ใช้กระแสไฟฟ้าความเข้มต่ำกระตุ้นผ่านเส้นประสาทสัมผัสผิวหนัง เพื่อลดปวด โดยกระตุ้นที่เส้นประสาทรับความรู้สึกมากกว่าเส้นประสาทยนต์
2.5 กระแสฟาราดิก (faradic current) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีช่วงกระตุ้นสั้น ส่วนใหญ่ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง เวลากระตุ้นมักจะให้เห็นการหดตัวของกล้ามเนื้อ กระตุ้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือเพื่อลดบวม4
นักกายภาพบำบัดเลือกใช้กระแสไฟฟ้าขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษา ป้องกัน หรือฟื้นฟู และจะมีเทคนิคการวางขั้วกระตุ้น การเปิดความเข้ม การเลือกใช้ความถี่ให้เหมาะสมกับการรักษา ฟื้นฟู

3. เครื่องผลิตแสงเลเซอร์กำลังต่ำ (low power laser unit) เป็นแสงที่แผ่ออกจากแหล่งกำเนิดไปทิศทางเดียวกัน ลำแสงแคบ มีความเข้มและพลังงานสูงมาก เลเซอร์เป็นการปล่อยรังสีออกมา สามารถรวมแสงให้ส่องมาที่จุดเดียวกันได้ ซึ่งเลเซอร์กำลังสูง แพทย์จะใช้ในการผ่าตัด สำหรับกายภาพบำบัดจะใช้เลเซอร์กำลังต่ำกว่า 1 มิลลิวัตต์ โดยไม่ได้หวังผลความร้อนจากลำแสง ส่วนใหญ่เลือกใช้เลเซอร์ชนิด HeNe (helium neon) เนื่องจากไม่ทำให้อุณหภูมิของเนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงและสามารถเพิ่มคลอลาเจนได้รวดเร็ว จึงเหมาะกับการกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ การติดของกระดูกและลดอาการอักเสบ ส่วนใหญ่เลเซอร์จะใช้รักษาโรคเรื้อรัง โดยเลเซอร์ใช้เพื่อลดปวดจะใช้วางห่างจากผิวหนัง 0.5-0.75 เซนติเมตร5

4. เครื่องกำเนิดความร้อนลึกด้วยคลื่นสั้น (shortwave diathermy machine) เป็นเครื่องมือที่ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง เหนี่ยวนำโมเลกุลในเนื้อเยื่อให้เคลื่อนที่ ทำให้เกิดพลังงานร้อนลึกในเนื้อเยื่อ เพื่อช่วยลดอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อต่อต่างๆ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด โดยปริมาณความร้อนจะขึ้นอยู่กับขนาดของอิเล็กโทรด ระยะห่างของขั้วอิเล็กโทรด ส่วนใหญ่จะใช้อิเล็กโทรดขนาดใหญ่กว่าบริเวณที่ต้องการรักษา เพื่อทำให้เส้นแรงสนามไฟฟ้าขนานและมีความสม่ำเสมอในบริเวณที่ต้องการรักษา เกิดการหักเหน้อย ซึ่งอิเล็กโทรดเป็นลักษณะแผ่นเก็บประจุ (capacitor) และขดลวดเหนี่ยวนำ (induction coil) ทำให้เกิดความร้อนในชั้นไขมันและชั้นกล้ามเนื้อได้ โดยมีผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของวงจร ส่วนใหญ่ปรับความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นๆ จึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่สูญเสียระบบประสาทรับความรู้สึก และห้ามใช้เครื่อง shortwave ใกล้โลหะ เช่น เครื่องประดับ อุปกรณ์เสริมและเทียม เช่น ฟันปลอม คอนแทกซ์เลนส์ หญิงตั้งครรภ์หรือขณะมีประจำเดือนผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เหล็กดามกระดูก เพราะเกิดการนำไฟฟ้าและเกิดความร้อนสูงทำให้เกิดการไหม้ของเนื้อเยื่อได้ ดังนั้นควรถอดโลหะหรือเครื่องประดับก่อนการรักษา5

5. เครื่องกำเนิดความร้อนลึกด้วยคลื่นไมโคร (microwave diathermy machine) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ที่ใช้รักษาทางกายภาพบำบัด ประมาณ 2,450 เมกะเฮิรตซ์และความถี่ 915 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด ลดอาการปวด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และเกิดความร้อนภายในเนื้อเยื่อ ความถี่ 915 เมกะเฮิรตซ์ จะเกิดความร้อนลึกกว่าความถี่ 2,450 เมกะเฮิรตซ์ ลึกถึงระดับชั้นของกล้ามเนื้อ หากบริเวณที่ชั้นไขมันไม่หนามากจะเลือกใช้ความถี่ 2,450 เมกะเฮิรตซ์ เช่น บริเวณข้อเข่าหรือข้อเท้าความลึกในการทะลุผ่านของคลื่นไมโครเวฟในชั้นไขมันและกระดูกจะขึ้นอยู่กับการนำไฟฟ้า ในระหว่างใช้เครื่อง microwave ควรถอดเครื่องประดับออกก่อนการรักษาและระมัดระวังในการใช้เครื่อง microwave ในผู้ที่มีปัญหาการสูญเสียการรับความรู้สึก ภาวะขาดเลือด (ischaemia) ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosis) หรือเสี่ยงเป็นมะเร็ง5, 6
เครื่องมือทางกายภาพบำบัด มีหลากหลายชนิด โดยมีผลทางสรีรวิทยาในการรักษาแตกต่างกันออกไป ดังนั้น นักกายภาพบำบัดจะเลือกใช้เครื่องมือเพื่อให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของการรักษาในแต่ละรายมากที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของการรักษา หากมีปัญหาการบาดเจ็บระหว่างวิ่งหรือหลังจากการวิ่ง ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Kozinc Z, Sarabon N. Effectiveness of movement therapy interventions and training modifications for preventing running injuries: a meta-analysis of randomized controlled trials. Journal of sports science and medicine. 2017; 16: 421-8.
- พินิจ จารุสมบัติ. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดเครื่องมือทางกายภาพบำบัด. ราชกิจจานุเบกษา; 2549.
- Miller DL, Smith N, Bailey M, Czarnota G, Hynynen K, Makin I. Overview of therapeutic ultrasound applications and safety considerations. J Ultrasound Med. 2012; 31(4): 623-34.
- สมชาย รัตนทองคำ. คู่มือการกระตุ้นไฟฟ้าด้วยกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำ. ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2537.
- สมชาย รัตนทองคำ. ไฟฟ้า แสง เสียง และแม่เหล็กไฟฟ้า ทางกายภาพบำบัด. ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2537.
- Goats GC. Physical treatment modalities microwave diathermy. Br. J. Sp. Med. 1990; 24(4): 212-8.
- ปริญญา เลิศสินไทย. ไฟฟ้าบำบัด สำหรับนักกายภาพบำบัด. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร; ม.ป.ป.

อ. กภ. ณัฎฐาพร แก้วโชติ
อาจารย์ประจำสาขา กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยคริสเตียน