“สตราวา” (Strava) เป็นแอปพลิเคชันสัญชาติอเมริกา สำนักงานใหญ่อยู่ในซานฟรานซิสโก มีความเกี่ยวข้องกับ นักวิ่งนักปั่นจักรยานทั่วโลกหลายสิบล้านคน ที่อัปโหลดสถิติการซ้อม การแข่ง อยู่ทุกวินาที ทำให้ Strava มีข้อมูลมหาศาล เร็ว ๆ นี้ แผนก Data Analysis ของแอพฯ ที่ทรงอิทธิพลได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ในปี 2019 นี้ นักวิ่งในระยะฟูลมาราธอน พวกเขาใช้เวลากันเท่าไหร่ มีค่าสถิติกลางอยู่ที่เท่าไหร่

ผมชอบข้อมูลนี้มาก Strava แสดงกราฟว่า สถิติโดยเฉลี่ยของนักวิ่งฟูลมาราธอนที่ถือว่าค่ากลางของปี 2019 นี้อยู่ที่ 3 ชั่วโมง 58 นาที 25 วินาที ซึ่งหากฐานข้อมูลมาจากนักวิ่งหลายล้านคนที่จบฟูลมาราธอน
ในโลกนี้ ก็พอจะทำให้คิดว่าการวิ่งมาราธอนในระดับ Sub 4 หรือว่า ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่นักวิ่งทั่วโลกส่วนใหญ่ทำได้ โดยหากคิดหาค่าเฉลี่ยของเพซ 3:58:25 ชม. จะเท่ากับเพซเฉลี่ย 5:39 นาที/กิโลเมตร นักวิ่งที่วิ่งเพซนี้เขาจะวิ่งระยะทาง 10 กม. ในช่วงเวลา 56:00 – 56:30 นาที หากเทียบความเร็วนี้ในบริบทของนักวิ่งไทย การจบ 10 กม. ที่ 56 นาที ถือว่า เป็นนักวิ่งที่วิ่งเร็วนะครับ เพื่อน ๆ วิ่งอยู่ในโซนความเร็วนี้อยู่รึเปล่าครับ 10 กม. ที่ 56 นาที
การนำข้อมูลสถิติมาราธอนของสนามต่าง ๆ มาวิเคราะห์ เป็นกราฟตัวเลขในเชิงสถิติ เชื่อว่าต่อไปจะเห็นได้มากขึ้นครับ แหงล่ะครับเรากำลังอยู่ในยุคของ Big Data มีวิทยาศาสตร์เชิงข้อมูล และสถิติเพื่อนำผลลัพธ์มาพยากรณ์เรื่องต่าง ๆ ได้ต่อไป ล่าสุดในงานอัมเตอร์สเตอร์ดัมมาราธอน 2019 ที่เพิ่งวิ่งไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม งานนี้หลังจบเรซจบไปได้ไม่กี่ชั่วโมง มีการแสดงข้อมูลเป็นกราฟสถิติที่น่าสนใจว่า สัดส่วนค่าเฉลี่ยของนักวิ่งกว่า 47,000 คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป วิ่งมาราธอนสนามมีค่าเฉลี่ยเท่าไหร่
สถิติฝ่ายชาย
สถิติฝ่ายหญิง
พบว่า นักวิ่งชายของงาน TSC Amsterdam Marathon 2019 สถิติที่พบมากที่สุดอยู่ในช่วงเวลา 3:55-3:59 ชม.อยู่ใน Sub 4 นักวิ่งหญิงของงานนี้ สถิติที่พบมากที่สุดอยู่ในช่วงเวลา 4:30 ชม.
เทรนด์ที่จะเกิดขึ้น และกลายเป็นบรรทัดฐานของสนามวิ่งมาราธอนในไม่ช้า ผมค่อนข้างแน่ใจว่าสนามมาราธอนที่ได้มาตราฐานจะเริ่มมีการประกาศ ค่าเฉลี่ยของสถิติกลางนักวิ่งที่จบฟูลมาราธอนสนามนั้น ๆ หรือ Marathon Average Finish Time (MAFT) ครับ ข้อมูลนี้ย่อมมีประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมของนักกีฬา ที่อาจมีเป้าหมายใหม่ ๆ ในการวิ่งให้ผ่านค่าเฉลี่ยของสนาม หรือมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่าง เช่น นิวยอร์กซิตี้มาราธอนปี 2017 มี MAFT ที่ 4:37 ชม. หรือย้อนไปในปี 2010 ชิคาโก้มาราธอนมี MAFT ที่ 4:43 ชม. บางเรซได้สรุปข้อมูลของ MAFT ไว้อย่างละเอียดตามช่วงอายุ เพื่อทำให้นักวิ่งเห็นภาพใน Age Group ได้ดีขึ้น อย่างเบอร์ลินมาราธอนปี 2015 มีดังนี้
- นักวิ่งอายุ 30 – 39 มีค่าเฉลี่ยที่ 3:41:48 ชม.
- นักวิ่งอายุ 40 – 39 มีค่าเฉลี่ยที่ 3:43:38 ชม.

ผมเคยหาเขียนข้อมูลในเชิงสถิติแบบนี้ไว้ โดยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ Run Repeat มาเรียบเรียง ในโอกาสนี้อยากนำมาแสดงไว้ครับ เพราะว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับเพื่อน ๆ นักวิ่งไทย รันรีพีทบอกว่า ปัจจุบันนักวิ่งประเทศชาติไหน เป็นจ่าฝูงขาแรงของแต่ละระยะ
- นักวิ่งสเปนวิ่งมาราธอนเฉลี่ยที่ 3:53:59 ชั่วโมง (เพซ 5:33)
- นักวิ่งรัสเซียวิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอนเฉลี่ยที่ 1:45:11 ชั่วโมง (เพซ 4:59)
- นักวิ่งสวิสเซอร์แลนด์วิ่ง 10 กิโลเมตร เฉลี่ย 52 นาที (เพซ 5:12)
- นักวิ่งยูเครนวิ่งระยะ 5 กิโลเมตร เฉลี่ย 27:21 นาที (เพซ 5:28)
การวิ่ง 10 กม. และ 5 กม. ของประเทศไทยที่อยู่ใน Finish Time Trend นี้ด้วย
- 10 กม. ของไทยนักวิ่งทำเวลาเฉลี่ย 1:25:01 หรือเพซ 8:30 นาที/กิโลเมตร
- 21 กม. ของไทยนักวิ่งทำเวลาเฉลี่ย 2:24:56 หรือเพซ 6:52 นาที/กิโลเมตร
ยังไม่พบข้อมูลค่าเฉลี่ย Marathon Average Finish Time ของสนามมาราธอนไทยจากข้อมูลของ Run Repeat ครับ แต่เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้เรื่องนี้จะต้องมีออกมาเป็นความท้าทายใหม่ ๆ ที่นักวิ่งอยากวิ่งให้ผ่านค่าเฉลี่ยของทุกสนามที่ไปครับ
ภาพ:
Strava
TCS Amsterdam Marathon
อ้างอิง:
What is the average marathon finish time?
The State of Running 2019
Berlin Marathon – some running stats