
วันนี้ของปีหน้า (9/08/2020) จะมีการตัดสินแชมป์มาราธอนในโอลิมปิกครั้งที่ 32 ซึ่งจะระเบิดความมันส์ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะจัดให้มีการมอบเหรียญแด่ผู้ชนะเป็นรายการสุดท้ายอย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลางผู้ชมใน Main Stadium
มาราธอนเที่ยวนี้มาพร้อมกับการคัดตัวที่สุดโหดมากๆครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เพื่อให้คู่ควรกับเหรียญรางวัลระดับงานยิ่งใหญ่ที่ 4 ปีจะมีเพียงครั้งเดียว โดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ National Olympic Committee (NOC) ได้จัดสรรวิธีคัดเลือกไว้ แอดมาขอแนะนำคร่าวๆ
👉IAAF World Ranking จะใช้เป็นตัวกำหนดว่าใครจะได้แข่งบ้าง โดยนับ 80 คนแรกที่มีสิทธิ์
👉Top 5 จากงานแข่งระดับ IAAF Gold Label
👉10 อันดับแรกจากงานแข่งชิงแชมป์โลกที่โดฮาในปลายเดือนกันยายนและสนามเมเจอร์ทั้ง 6 สนาม
👉2:11:30 ชั่วโมงในสนามที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
ตอนนี้สำหรับนักวิ่งไทย Tony Payne กำลังขะมักเขม้นเตรียมตัวแข่งในรายการชิงแชมป์โลกที่โดฮาอยู่เต็มที่ แอดหวังว่าเขาจะได้ลำดับที่ดีและคว้าตั๋วโอลิมปิกให้สมหวังกัน***
ถ้านักวิ่งเข้าข้อใดข้อหนึ่ง ก็รอการตัดสินจากประเทศนั้นได้ว่าจะส่งตัวไปแข่งหรือไม่ เพราะบางประเทศเช่นเคนย่าหรือเอธิโอเปียอาจมีรวมกันเกือบร้อยคนทีเดียว
โดยทีมชาติชั้นนำจะได้สิทธิ์ส่งนักแข่งสูงสุด 3 คนเช่นในตอนนี้ทีมที่มีสิทธิ์คือ เคนย่า เอธิโอเปีย ญี่ปุ่นเจ้าภาพ บาห์เรน อิริเทรีย โมร็อคโก สเปน ตุรกี อูกันด้า(อาจมีเปลี่ยนแปลงได้)
………….
ตัวเต็ง
ยังไม่มีชาติไหนประกาศชัดเจนว่าจะส่งใครไปบ้างในเวลานั้น แน่นอนว่าอีก 1 ปีข้างหน้ายังมีเวลาเหลือเฟือให้แต่ละค่ายเตรียมตัวกันได้ยาวๆ
KENYA Team🇰🇪
ยังแข็งแกร่งเสมอและไว้ใจได้จากผลงาน 3 เมเจอร์ใหญ่สามารถกวาดได้ 2 แชมป์
Boston บอสตันมาราธอน Lawrence Cherono ที่เฆี่ยนกันถึงหน้าเส้นชัยกว่าจะเฉือน Desisa Lelisa ลงแบบหืดจับ
London ลอนดอนมาราธอน กับการบินเข้าเส้นชัยอย่างสวยงามของ Eliud Kipchoge
ช่วงเวลาทองของคิปโชเก้จะยาวนานได้ขนาดไหนในการแข่งมาราธอนสมัยใหม่ที่ค่อนข้างเข้มข้นและมีนักวิ่งใหม่ขึ้นชั้นมาตลอดเวลา
แอดเองก็ลุ้นๆให้คิปโชเก้มาคว้าเหรียญทองรอบสองเหมือนกันเพราะฟอร์มการกระชากหนี Feyisa LELISA แบบสับเป็นหายช่วงกิโลเมตรที่ 35 ที่ริโอ เดอ จาเนโร มันเท่ระเบิดไปเลย ทีนี้จะได้ขึ้นแท่นนักวิ่งคนที่ 3 ที่สามารถหยิบเหรียญทองมาราธอนโอลิมปิกได้ 2 สมัยคู่กับผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Abebe BIKILA ของเอธิโอเปียและ Walderma CIERPINSKI จากเยอรมันตะวันออกเสียที
ETHIOPIA Team🇪🇹
ทีมนี้เต็มไปด้วยวัยรุ่น วิ่งแบบกล้าได้กล้าเสียด้วยพลังล้นถัง ถอยแชมป์เมเจอร์มาได้ใน Tokyo โตเกียวมาราธอนจากฝีเท้าของ Birhanu LEGESE ที่วิ่งแหวกสายฝน 6 องศาด้วยเวลา 2:04:48 ชั่วโมง รวมถึงมนุษย์ที่วิ่งเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลกอย่าง Mosinet GEREMEW พ่อหนุ่มนัยตาโศกที่วิ่งได้ระห่ำจนคิปโชเก้เกือบพลาดท่าในลอนดอนมาราธอนที่ผ่านมา
นับกันจริงๆแล้ว ถ้าโอลิมปิกจัดช้ากว่านี้สักปีหนึ่งบรรดาเสือหนุ่มจากเอธิโอเปียจะน่ากลัวกว่านี้มากแน่นอน
JAPAN Team🇯🇵
ไม่เขียนถึงไม่ได้เลย เพราะการคัดตัวเปิดฉากกันในวันที่ 15 กันยายนนี้โดยใช้เส้นทางเสมือนจริงกับการแข่งมาราธอนในโอลิมปิกโตเกียว 2020 แต่ไม่ได้เริ่มและจบที่ Main Stedium โดยแชมป์จากการคัดตัวได้เป็นตัวแทนแข่งแน่ๆ ส่วนอันดับ 2 และ 3 ยังต้องลุ้นว่าในสนามอื่นจะมีนักวิ่งญี่ปุ่นทำเวลาดีกว่า 2:05:30 อีกไหม ซึ่งถ้าไม่มีก็ตามแชมป์เป็นตัวแทนได้เลย
โตเกียวเคยจัดโอลิมปิกมาแล้ว 1 ครั้งเมื่อปี 1964 ครั้งนั้นชาวญี่ปุ่นได้เฮกัน(แบบอ่อนๆ)จากเหรียญทองแดงของ Kokichi Tsuburaya ที่วิ่งรั้งอันดับ 2 มาจนเหลืออีกเพียง 200 เมตรก็จะเข้าเส้นชัย แต่โดน Basil Heatley จากสหราชอาณาจักร แซงแบบฉิวเฉียด การวิ่งในครั้งนั้น Abebe Bikila คว้าเหรียญทองครั้งที่สองพร้อมทำลายสถิติโลกได้ด้วยเวลา 2:12:11 ชั่วโมง
มาราธอนหนนี้หลายฝ่ายคาดการว่าน่าจะร้อนและชื้น (สมัยปี 1964 เลื่อนไปจัดปลายกันยาด้วยเหตุผลหนีร้อน) ทำให้เจ้าบ้านน่าจะได้เปรียบอยู่บ้างโดยจะวิ่งในช่วง 9:30 ซึ่งตรงกับ 7:30 ในเวลาประเทศไทย ซึ่งน่าจะสนุกมากแน่ๆ
เพื่อนสนใจไปเชียร์ขอบสนามกันไหม? เพราะแข่งวิ่งบนถนนยาวถึง42Km.ไม่ต้องเบียดในสเตเดี้ยมเลยนะ