“วิ่งเพื่อชีวิตใหม่” เรื่องเล่าจากวิศวกร ที่พึ่งเริ่มวิ่งในวัย 46 ปี

2509

ผมในวัย 46 ปี ใช้ชีวิตอย่างสำมะเลเทเมาต่อเนื่องมาตั้งแต่เรียนมัธยม เข้ามหาวิทยาลัย จวบจนมีอาชีพการงาน ก็หนักข้อขึ้นทุกวัน เพราะมีเงินเดือนแล้วจึงดื่มกินสูบได้เต็มเหนี่ยว เคี่ยวกรำร่างกายอย่างไม่เคยทะนุถนอมมันเลย แล้ววันหนึ่งมันก็ทวงความสุขคืนจากผม


เดือนสิงหาคม 2560 ผมป่วยเป็นไข้หวัด ตัวร้อน มีไข้ น้ำมูกไหล ปวดเนื้อตัว ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพญาไท มา 1 ครั้ง ได้ยามากิน 2 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ดีขึ้น จึงไป โรงพยาบาลวิชัยยุทธอีกรอบ อาการมึนหัวอ่อนเพลียตลอดระยะเวลาที่เป็นนั้น สร้างความตะหนกให้ผมอย่างเงียบ ๆ ดื่มน้ำก็เยอะ นอนก็มาก กินก็คัดแต่ที่ดี ๆ วิตามินก็เสริมเต็มที่ แล้วทำไมมันไม่หายสักที? สรุปว่าไข้หวัดครั้งนี้เล่นงานผมนานถึง 5 สัปดาห์   

เช้าวันที่ฟื้นสภาพกลับมาแข็งแรงดังเดิมนั้น ผมเข้าห้องน้ำมองตัวเองในกระจกเงา คำถามหนึ่งแวบเข้ามาในสมอง “นี่ภูมิต้านทานในร่างกายเรามันแย่ขนาดไหนแล้วหนอ ถึงได้ป่วยนานเหลือเกินกว่าจะหาย แล้วจะทำอย่างไรดี?” ผมตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินใหม่ คือ ออกกำลังกาย  

เย็นวันถัดมา … ผมแต่งตัวพร้อมออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน คุณป้าแม่บ้านเห็นเข้าก็ทักว่า
“คุณจะออกไปวิ่งเหรอคะ”
“ครับป้า …” ผมตอบ

ก้าวเท้าออกจากบ้าน … ยิ้มแล้วบอกกับตัวเองว่า ‘วันนี้มึงเกิดใหม่’ เอาเบาะ ๆ ประเดิมสัก 5 กม. ก็พอ แล้วจึงออกวิ่ง … ประมาณด้วยสายตาว่าสัก 300 เมตร ขาที่ก้าวก็ทรุดลงไปจนเข่ากระแทกพื้นถลอก
“นี่เราอ่อนแอขนาดนี้เชียวหรือ” ผมคิดในใจ แล้วจึงเดินกะเผลกกลับบ้าน
คุณแม่บ้านทัก “อ้าว … กลับแล้วเหรอคะคุณ”
“ครับป้า … พรุ่งนี้ค่อยลองใหม่” ผมตอบแบบอาย ๆ เลี่ยงตัวเดินหลบไม่ให้แกเห็นแผลที่เข่า 

เย็นวันถัดมาผมลองอีกครั้ง ผลเหมือนเดิม คือ ไม่สามารถวิ่งได้เพราะแรงขาไม่มี ผมจึงกลับมานั่งคิดทบทวนดูใหม่ เปิดโทรศัพท์อ่านไลน์เรื่อยเปื่อย จนไปสะดุดกับรูปไอคอนไลน์ของรุ่นพี่คนหนึ่ง เป็นรูปในชุดนักวิ่งยืนคล้องเหรียญรางวัล ไม่รอช้าผมยกสายไปหาแกทันที
“พี่มาร์ท พี่เป็นนักวิ่งเหรอครับ”
“เออ … พี่วิ่งมาหลายปีแล้ว”

ผมก็เล่าเรื่องราวให้แกฟัง แกบอกว่าเอ็งไปเดิน 1 ชม. ให้พี่ดูหน่อย เดินเร็วที่สุดที่สามารถเดินได้    เย็นวันถัดมาผมจึงออกไปเดินตามคำสั่งแล้วโทรหาแก
“พี่ … ผมเดินได้ 6 โลครับ ใน 1 ชม.”
“โอเค เอ็งปกติดี แค่ไม่ฟิตอย่างแรง” แกตอบ   

จากนั้นแกก็แนะนำวิธีการฝึกให้ผม เริ่มจากวิ่งแค่ 20 นาที แล้วให้เดินกลับบ้านเลย ผมทำตามอยู่หลายครั้งจนวันนึงเผลอวิ่งเกินไป 40 นาที เพราะใส่หูฟังเพลงจนลืมเวลา นั่นเองแกจึงให้เปลี่ยนมาวิ่ง 5 กม. โดยเกลี่ยแรงให้วิ่งได้จนครบ

แรก ๆ ผมวิ่งเร็วไปจนทำให้ตอนท้าย ๆ หมดแรง จึงค่อย ๆ ปรับไปจนวิ่งได้แบบไม่เหนื่อยมาก จากนั้นอีกหลายเดือนรู้สึกตัวว่า วิ่งได้เร็วขึ้นมาหน่อย จึงค่อย ๆ เพิ่มความเร็ว แล้วก็พบกับปัญหาแรก คือ พอวิ่งเร็วขึ้นมันหายใจไม่ทัน หอบตัวโยน และหัวใจเต้นเร็วมาก ไปปรึกษาพี่เขาเลยได้ความว่า ระบบภายในร่างกายยังไม่เข้มแข็งพอ ต้องค่อย ๆ สร้างไปเรื่อย ๆ เหมือนหยอดกระปุกวันละบาท  ค่อย ๆ หยอดไป

ผมจึงเริ่มหยอดกระปุกไปเรื่อย ๆ ประมาณ 2 เดือน ผมขยับระยะมาเป็น 10 กม. แบบจบเหนื่อย ๆ   ชีวิตเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ผมเข้าไปเป็นสมาชิกชมรมวิ่งของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย ที่นี่เอง ผมโดนหลอกไปวิ่งฮาล์ฟมาราธอนเป็นครั้งแรก พี่ ๆ เขาบอกว่า เอ็งต้องซ้อมให้ได้อย่างน้อย 16 กม. นะเว้ย ผมก็พยายามฝึกไป จนพอทำได้แบบเหนื่อยแสนสาหัส



และเย็นวันหนึ่ง ผมอยากทดสอบตัวเองที่ระยะ 21 กม. ผมวิ่งไปคนเดียวช้า ๆ แสนน่าเบื่อที่สวนจตุจักร วิ่งตั้งแต่ 5 โมงเย็นยัน 3 ทุ่ม วิ่งจนครบ 21 กม. ระบมไปทั้งตัวแต่ก็ปลื้มใจที่ทำได้

ผมพยายามฝึกซ้อมต่อเนื่องแบบงู ๆ ปลา ๆ หยุดบ้างขี้เกียจบ้าง มีเรื่องที่ปลื้มที่สุด คือ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม หลังจากฝึกวิ่งมาได้เดือนเดียว … ผมก็เลิกบุหรี่ได้ ปกติหลังวิ่งผมก็สูบตามปกติ แต่พอเริ่มวิ่งได้ 5 กม. ร่างกายมันเกิดพิกลขึ้นในวันหนึ่งหลังวิ่งเสร็จผมอยากบุหรี่ สูบเข้าไปแล้วอาเจียนออกมา วันต่อ ๆ มาผมเริ่มเหม็นกลิ่นบุหรี่ เจอเข้าแบบนี้เลยต้องเขวี้ยงมันทิ้งไปจากชีวิต จนปัจจุบันนี้ผมเลิกขาดไม่เคยหันไปลองอีกเลย

การวิ่งของผมเป็นการวิ่งคนเดียว ไม่ค่อยมีเพื่อน มีบ้างที่นาน ๆ ทีจะไปร่วมวิ่งกับชมรม เคยอยากไปร่วมกิจกรรมตามที่อ่านในโซเชียล แต่พอเห็นระยะแล้วก็รู้เราไปไม่รอด จะเป็นภาระคนอื่นเสียเปล่า ผมจึงฝึกเองเรื่อยมา และเรื่อยเปื่อย พยายามจะวิ่ง 10 กม. ให้มันจบแบบไม่เหนื่อย คิดเอาเองว่าวิ่งบ่อย ๆ วิ่งมาก ๆ เดี๋ยวมันจะต้องแกร่งขึ้น เลยตะบี้ตะบันวิ่งไป ปรากฏว่ายิ่งวิ่งยิ่งเหนื่อย และบาดเจ็บ ต้องพัก อดวิ่ง เสียความฟิต ต้องนับหนึ่งใหม่ไม่รู้กี่รอบ



ผมจึงเริ่มเสาะหาที่เรียน ลองมาหลายโค้ช หลายโปรแกรม ก็พัฒนาขึ้นมาก ได้รู้ถึงความสำคัญของการวอร์มก่อนวิ่ง การยืดเหยียดหลังวิ่ง และเริ่มมีเพื่อนวิ่งกับเขาบ้างแล้ว มิตรภาพนี้มันเป็นรสชาติที่ผมไม่เคยได้สัมผัส มันทำให้การวิ่งมีความสุขมากขึ้น แค่วิ่งไปกับเพื่อน จะวิ่งช้าหรือเร็วเราก็วิ่งเคียงกันไปได้ เรียกว่าภราดรภาพจะชัดกว่า

มีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยระหว่างการวิ่งของผม เช่น พักหลัง ๆ ผมไม่สามารถใส่หูฟังเพลงวิ่งได้เพราะมันทำให้ผมรักษาจังหวะเท้าไม่ได้ วิ่งแล้วเดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้าทำให้เหนื่อยง่าย ยังมีเรื่องของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงนับจากช่วงเริ่มหัดวิ่งคือช่วงวิ่งใหม่ ๆ ผมปวดขา พอวิ่งไปเรื่อย ๆ ผมหายใจไม่ทันเหนื่อยไว วิ่งไปอีกผมปวดข้อสะโพก วิ่งไปอีกผมเสียดท้อง วิ่งไปอีกผมเจ็บรองช้ำ พอผ่านแต่ละเคสไปได้เหมือนมันหลอมร่างกายขึ้นมาให้เราใหม่ อาการนั้นค่อย ๆ หายไป สิ่งที่มาแทนที่คือรู้สึกถึงร่างกายที่แกร่งขึ้น ขาแข็งแรงขึ้น หายใจสบายขึ้น   หัวใจ ฟื้นตัวได้ไว คือ เหนื่อยพักแปปเดียวก็หาย ฝ่าเท้าข้อเท้ายืดหยุ่นแข็งแรงขึ้น สะโพกและก้นแข็งแรงขึ้น   สรุป วิ่งนี่มันได้ประโยชน์ทั้งตัวจริง ๆ       

ปัจจุบันนี้ ผมก็ยังวิ่งสม่ำเสมอเฉลี่ยเดือนละ 180 กม. กำลังจะลงมาราธอนแรกในชีวิต กับงานกรุงเทพมาราธอนสิ้นปีนี้ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาผมทำ sub1 สำเร็จที่ 57 นาที น้ำหนักตัวจาก 72 เหลือ 66 กก. เอวจาก 33 เหลือ 30 นิ้ว สุขภาพโดยรวมดีขึ้นมาก ปีหนึ่งจะป่วย ก็แค่ครั้งสองครั้ง และส่วนมากก็อาการท้องเสีย    ไข้หวัดนั้นลาจากกันมานานมากแล้ว ตอนนี้จากที่เป็นสมาชิกชมรมวิ่งศิษย์เก่า … ผมขยับขึ้นมาเป็นประธานชมรมแล้ว การวิ่งเพื่อชีวิตใหม่ของผมได้เท่านี้ ผมว่าผมมาไกลมากแล้ว

เรื่อง: ชยันต์ นำแสงวานิช
“วิ่งเพื่อชีวิตใหม่” เรื่องเล่าจากวิศวกร ที่พึ่งเริ่มวิ่งในวัย 46 ปี บทความในโครงการ นักเล่าเรื่องวิ่ง by ThaiRun