“ต่าย – วันวิสา” คุณแม่นักวิ่ง ที่สอนลูกให้เรียนรู้ชีวิตด้วย “กีฬา”

1200

ในเดือนแห่งวันแม่นี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแม่นักวิ่ง ที่วิ่งตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน จนปัจจุบันมีลูกชายวัยกำลังน่ารัก อายุ 1 ขวบ 4 เดือน ต่าย – วันวิสา ผุดผา คุณแม่ลูกหนึ่งที่ยังยืนหนึ่งเรื่องการวิ่ง และการออกกำลังกาย

ชีวิตก่อนแต่งงาน หลังแต่งงาน และมีลูก ได้สร้างพลังให้กับคุณแม่ตัวเล็ก ๆ อย่าง ต่าย ในทุกช่วง คงเป็นเพราะการเจอคู่ชีวิตที่คิดแบบเดียวกัน มองไปในทิศทางเดียวกัน มีกิจกรรมของครอบครัวแบบเดียวกัน ครูพงศ์ – ชิษนุพงศ์ ผุดผา สามีของเธอ ปัจจุบันเป็นครูสอนกีฬา หลากหลายประเภท เช่น ว่ายน้ำ โยคะ เป็นต้น และเป็นนักวิ่งอัลตร้าเทรล ที่เป็นหนึ่งในนักวิ่งไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Hong Kong Four Trails Ultra Challenge ประเทศฮ่องกง เมื่อปี 2558  ในระยะทางราว ๆ 300 กม. รวมถึงวิ่งจบระยะ 100 กม. มาแล้วหลายสนาม 

เธอเล่าให้ฟังถึงมุมมองและวิธีคิดในการดูแลตัวเองว่า ช่วงก่อนแต่งงงานเป้าหมายการออกกำลังกายก็เพื่อตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะอาการเหนื่อยล้าจากงานประจำทำให้เธอต้องมีกิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลาย แถมยังได้ประโยชน์ด้วย นั่นคือ การวิ่ง ว่ายน้ำ รวมถึงกิจกรรมการออกกำลังกายกลางแจ้ง พอมีแฟน เธอก็เลือกคนที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกับเธอ คือชอบการวิ่ง และกีฬาอื่น ๆ

ใช่ เธอโชคดีที่เจอ ‘คนที่ใช่’ เจอผู้ชายที่มีไลฟ์สไตล์และวิธีคิดใกล้ ๆ กับเธอ ก็มีที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย เรื่องส่วนใหญ่คือเหมือนกัน เธอกับครูพงศ์จึงคุยถึงแนวทางการเลี้ยงลูกไว้ตั้งแต่แรกที่คบกัน เป็นการยืนยันว่าทั้งสองคนมีมุมมอง และแนวทางการดูแลลูกไปในทิศทางเดียวกัน

เพราะ “การวิ่ง” นำพาเรามาเจอกัน

อาจพูดได้ว่า ‘การวิ่ง’ เหนี่ยวนำให้เธอและสามีมาเจอกัน ตัดสินใจแต่งงานกัน และใช้เรื่องการวิ่งเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  

“ตอนพี่พงศ์ลงแข่ง Hong Kong Four Trails Ultra Challenge ปี 2558 เราก็ตามไปซัพพอร์ท แบกเป้ แบกอาหารไปดูแล เพราะว่าเขาวิ่งระยะทางราว ๆ 300 กม. รอบเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก เราได้เห็นว่าเขารักการวิ่ง และมีความสุขมาก ต่อให้เขาจะดูอิดโรยมากก็ตาม (ฮ่าๆ) เป็นห่วงเขามากนะ แต่เราไม่ได้ไปฉุดรั้งในสิ่งที่เขารักและอยากจะทำ ความรักของเรา คือ รักและยินดีที่เขาได้ทำในสิ่งที่เขามีความสุข ต่อให้ไม่ได้เป็นดั่งใจเราก็ตาม

เวลาที่เราคบกันมันสั้นมาก เรานิยามได้ว่าเป็น “คนที่ใช่” และเรามีสถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นบททดสอบ เพื่อย่นเวลาการรู้จักกัน หลังจากการแข่งขันนั้นจบลง เขาคงเห็นว่า ผู้หญิงคนนี้ก็พึ่งพาได้ เราเลยตัดสินใจแต่งงานกัน

หลังจากเราแต่งงาน ทริปฮันนีมูนของเราคือ การวิ่งเทรลในระยะที่ไม่ต่ำกว่า 42 กม. เราไปวิ่งในป่า จะฮันนีมูนสบาย ๆ เหมือนคนอื่นไม่ได้ (ฮ่าๆๆ) เราสองคนรู้สึกว่า มันเป็นช่วงเวลาราว ๆ 10 ชม. ที่ได้อยู่กัน 2 คนท่ามกลางธรรมชาติ  ถึงจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่เราได้ใช้ชีวิต และเรียนรู้กันในช่วงเวลานั้น ๆ

ถ้าถามว่า เราได้เห็นอะไรจากการวิ่งด้วยกันเป็น 10 ชม. เราได้เห็นว่า…เราต้องพึ่งตนเอง (ฮ่าๆๆๆ) คือไม่ใช่ว่าการที่เรามีสักคนเข้ามา เขาจะต้องมาดูแลเราตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นการเอาเปรียบมาก เราต้องช่วยเหลือกันนะ เพราะเราเป็นคู่ชีวิตเรา ไม่รู้นะ….เราคิดแบบนี้

เขาเลยมองว่า เราสามารถเป็นแม่ของลูกได้ เพราะเราพึ่งตัวเองได้ พอเรามีลูกเล็ก เราก็สามารถเป็นที่พึ่งให้ลูกเราได้ โดยที่เราไม่ต้องนั่งรอเขา เขาจะได้ออกไปทำงานอย่างมีความสุขและไว้ใจเราให้ดูแลลูก ขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าเขาดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องหึงหวง ทำให้การดำเนินชีวิตเราทั้งคู่ต่างเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ต้องมาพะวงกัน ฉันสามารถดูแลตัวเอง ดูแลลูก เธอก็สามารถดูแลตัวเองได้” 

ตั้งครรภ์ก็ต้องแข็งแรง

หลังจากที่ต่าย และพี่พงศ์ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันราว ๆ  1 ปี ก็ตัดสินใจมีลูก ปัจจุบัน น้องไพร – พนพล ผุดผา อายุ 1 ขวบ 4 เดือน ระหว่างที่เธอตั้งครรภ์ การดูแลตัวเองก็ยังทำเป็นปกติ ยังรักการออกกำลังกายเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายจากการวิ่ง เปลี่ยนเป็น เดิน-วิ่งในน้ำ โยคะ หรือเดินเล่นในสวนสาธารณะ และเวทเทรนนิ่งเบา ๆ เพื่อให้ทุกวันมีการเคลื่อนไหว

“เราคิดว่า…คนท้องไม่ใช่คนป่วย เราเป็นคนที่กำลังสร้างคนอื่นมา ดังนั้นการสร้างใครสักคนขึ้นมา จุดเริ่มต้นต้องดี ทำอะไรก็ได้ที่แม่มีความสุข เราก็เชื่อว่าลูกในท้องเราก็จะมีความสุข เท่าที่อ่านมาในทางวิทยาศาสตร์ก็อธิบายว่า ถ้าแม่มีความสุขก็จะส่งผลต่อการเติบโตของลูกในท้อง เราก็เลยมั่นใจและทำในสิ่งที่เรามีความสุข เลยเป็นแนวคิดที่ไม่กลัวการออกกำลังกาย แต่อยู่บนพื้นฐานของการฟังเสียงตัวเอง”  

ออกกำลังกายให้ลูกดู

ด้วยความแข็งแกร่งของ ต่าย และการดูแลตัวเองได้ดีแล้ว ทำให้สามีเธอไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ทุกคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง สามีเธอก็รับผิดชอบเรื่องการทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวอย่างเต็มที่ ส่วนเธอก็ดูแลลูกอย่างเต็มเวลา และดูแลบ้านให้ดี

“ตอนนี้ลูกไพรโตขึ้น และสนุกกับการได้เล่นกับพ่อแม่ พี่พงศ์ก็จะพาลูกไปทำกิจกรรม เพื่อให้แม่ได้มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง เมื่อมีลูกเราก็ต้องยอมรับว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และชีวิตจะไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป 

เราจะใช้เวลาช่วงที่ลูกหลับเพื่อออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายพร้อมกันพ่อแม่ลูก โดยการสร้างกิจกรรมมาร่วมกัน เช่น แตะบอล วิ่งรอบสนามบอล ทำสเตชันเล็ก ๆ กันเอง เมื่อลูกเห็นพ่อและแม่ออกกำลังกายด้วยกันแล้ว เขาก็มาย่อ ๆ ยุบ ๆ ตามเรา” 

พาลูกวิ่ง

ตอนน้องไพรอายุได้ 1 เดือน เธอก็พาลูกไปที่สวนสาธารณะ แม้ว่าคนรอบข้างหลาย ๆ คนจะไม่เห็นด้วย แต่เธอก็เชื่อว่า เธอรู้จักลูกดีพอ

“ตอนนั้นเราพาลูกไปซึมซับบรรยากาศที่สวนสาธารณะ ทุกคนก็จะแสดงความคิดเห็นกันใหญ่ เดี่ยวจะไม่สบาย สารพัดที่ทำให้เรากังวล แต่คนเป็นแม่ต้องเป็นคนที่หนักแน่น และเชื่อว่า สิ่งที่เราเลือกให้ลูกมันดี ใครพูดอะไรก็รับฟัง และต้องตรึกตรอง พอเราลังเล ลูกเราจะสับสน พี่พงศ์ก็ให้กำลังใจและให้ความมั่นใจในสิ่งที่เราทำ คนเป็นแม่จะต้องรู้จักลูก ตอนนั้นเข็นน้องไพรไปสัก 100 เมตร เขาก็ร้องไห้ แต่หลัง ๆ ก็ค่อยๆ พาเขาไปไกลขึ้น ๆ จนได้ระยะทาง 5 กม. 

หลังจากนั้นเราก็ได้มีโอกาสลงงานวิ่ง โดยการเข็นรถลูกวิ่ง ระยะ 5 กม. ก็เป็นระยะที่น้องไพรสนุก เราพาเขาไปสวนฯ สม่ำเสมอ เขาก็จะชินและสนุกกับการวิ่งไปพร้อมแม่ อย่างตอนไปงาน The Moon ปี 2019 ที่ผ่านมา เราก็ปล่อยพ่อเขาไปวิ่งเทรล  100 กม. ส่วนเราก็พาลูกลง 15 กม. คราวนี้ต้องแบกเขาใส่เป้ และวิ่งไปด้วยกัน เราก็เตรียมซื้อเป้ และลองซ้อมวิ่งดู แต่น้องไพรอยู่กับเป้อุ้มมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เขาเลยชิน ตัวเราเองจะต้องแบกน้ำหนักลูกราว ๆ 9 กิโลกรัม ก็ต้องแข็งแรงพอสมควร”

เมื่อกีฬาคือพื้นฐาน

ครอบครัวนักกีฬาอย่างครอบครัวผุดผา ทั้งต่ายและสามีมองว่า เรื่องกีฬาคือพื้นฐานของร่างกาย และเป็นรากฐานของความเข้มแข็งทั้งกายและใจ

“อนาคตถ้าลูกต้องไปเจอกับอะไรที่เครียด การเล่นกีฬาจะเป็นจุดที่ทำให้เขาผ่อนคลาย และทำให้สุขภาพแข็งแรง จนถึงตอนนี้น้องไพรก็ไม่เคยป่วยหนัก เต็มที่ก็แค่น้ำมูกไหล สำคัญเลยเด็กเล็ก ๆ กีฬาช่วยในเรื่องประสาทสัมผัส และพัฒนาการต่าง ๆ ของสมอง ก่อน 3 ขวบ ร่างกายเขาทำอะไรมากไม่ได้ กีฬาจะเป็นตัวตอบโจทย์ กล้ามเนื้อมัดเล็กเขาจะพัฒนา การเล่นกีฬาจะเป็นตัวกระตุ้นสมองเขา และยังได้เรื่องสังคม จิตใจ น้องไพรเรียนรู้เรื่องการรอคอย เวลาที่ไปช่วยพ่อสอนว่ายน้ำ บางวันลงน้ำต่อเนื่องเขาก็อยู่ได้ หักห้ามใจได้ เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง รวมถึงการแบ่งปันของเล่นกับเพื่อนด้วย”

“ลูก” กับการเรียนรู้เรื่องราวชีวิต

“เขาให้เราเรียนรู้ทุกวัน จนบางทีเราก็ลืมประมวลผลไปนะ” ต่ายนิ่งคิดไปสักครู่ แล้วบอกต่อว่า เขาเข้าเติมเต็มชีวิตเรา และทำให้เรารู้สึกรักแม่มากขึ้น เราได้รู้ว่าหนึ่งชีวิตของผู้หญิงเรา ต้องแข็งแกร่งจริง ๆ ไม่เคยคิดว่าเราจะให้ความรักและให้เวลากับใคร ก็เราสามารถให้กับลูกได้ทั้งหมด

“คุณค่าซึ่งกันและกัน” นิยามความสุขของการเป็นครอบครัวนักกีฬา

ความสุขของแต่ละคนคงมีหน้าตา และรูปแบบที่แตกต่างกัน สำหรับต่ายแล้ว เธอคิดว่า 

“ความสุข คือการได้อยู่ร่วมกัน ‘กีฬา’ ทำให้เรา 3 คนได้ใช้เวลาด้วยกัน เด็กไม่ได้ต้องการของสวยหรู ขอแค่มีพ่อแม่อยู่ด้วย กีฬาเป็นตัวเชื่อมเรา โดยอันดับแรกทำให้เราเห็นคุณค่าตัวเอง ถัดมาทำให้เราเห็นคุณค่าของสามีเรา และทำให้เรา 2 คนเห็นคุณค่าที่จะมีลูกอีกคน ดังนั้นกีฬา ทำให้เราเห็นคุณค่าของกันและกัน” 

คาดหวังให้ลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหนหรอ? ถ้าตอบแบบคนทั่วไป เราจะตอบว่า อยากให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อสังคม แต่ถ้าถามในนิยามของเรากับสามี จะตอบว่า ก็เป็นผู้ใหญ่ในแนวทางของตัวเขา คือ คนเราไม่ต้องดี 100% เราก็หวังให้ลูกเป็นตัวของเขาให้มากที่สุด  

โดยเราให้ในสิ่งที่เรามีก่อนเบื้องตัน คือ “กีฬา” ผ่านความรักและความสุข ส่วนโตขึ้นไปเขาจะรักกีฬาขนาดไหน จะได้ลงกินเนสส์บุ๊คอย่างที่พี่พงศ์เขาต้องการไหม (ฮ่าๆๆ) หรืออาจจะเป็นนักดนตรี นักวาดรูป ก็แล้วแต่ว่าเขาจะเลือกอะไร แต่ ณ ตอนนี้เราให้ลูกได้ คือ กีฬา และให้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็นก็พอ”