มันเริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 ตอนที่ Nike ประกาศก้องว่าจะทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงของการวิ่งมาราธอนลงให้ได้ ในโปรเจ็คที่ชื่อว่า Breaking2 สถิติโลกของการวิ่ง 42.195 กม.ในตอนนั้น อยู่ที่ 2:02:57 ชั่วโมง โดย Dennis Kimetto จากค่าย Adidas
การจะพังกำแพง 2:00:00 ลงไปได้แปลว่านักวิ่งจะต้องวิ่งได้เร็วขึ้น จากที่เร็วที่สุดในโลกแล้ว (2:02:57) อีก 3% ทีเดียว
การที่จู่ๆคนๆนึงจะวิ่งเร็วขึ้น 3% ทุกคนรู้ดีว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้ไนกี้คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เทคโนโลยีทางการกีฬาต้องเข้าไปช่วย “คน” (เหมือนกับสมัยนึง ที่นักเทนนิสเล่นดีขึ้นทันตา เมื่อเปลี่ยนจากไม้แรกเก็ตหนักๆ มาเป็นไม้คาร์บอนที่แข็งแกร่งแต่เบาหวิว)
เทคโนโลยีต้องมา
และต้องช่วยนักวิ่ง ให้ได้มากกว่า 3%
งั้นก็ต้อง 4% สินะ
ไอเดียที่มีชื่อเล่นว่า Nike 4% จึงถือกำเนิดขึ้น
ปี 2017 คิปโชเก้ ทิ้งลอนดอนมาราธอน เข้าร่วมโปรเจ็ค Breaking2 เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกที่จะพังกำแพง 2:00:00 โดยใส่รองเท้าตัวใหม่ที่ Nike อัดเทคโนโลยีเข้าไปเต็ม ผลคือ เกือบสำเร็จ วันนั้นคิปโชเก้วิ่งดี ทำได้ 2:00:25 ชั่วโมง พลาดการทำลายกำแพงไปเพียง 25 วิ แต่นี่คือการวิ่งที่เร็วที่สุดของมนุษย์โลกแล้ว (หมายเหตุ : สถิตินี้ไม่ถูกบันทึก เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ใช่การแข่งจริง)
ไว้พูดถึง Nike 4% อีกทีนะ
ตอนนี้ ขอกดปุ่มเร่งไปข้างหน้าสักนิด ขยับมาที่ปี 2019
ปีนี้ Nike ออกรองเท้าตัวใหม่ เป็นตัวที่พัฒนาต่อเนื่องจาก Nike Vaporfly 4% Flyknit (ตัวที่ดีที่สุดก่อนหน้านี้) โดยปล่อยตัวออกมาต้นสัปดาห์ของการแข่ง London Marathon พอดิบพอดี
ไนกี้บอกว่าตัวนี้ ดีกว่าตัว 4% ซะอีก
แต่จะกี่ % หล่ะ
มันคือ เปอร์เซ็นต์ถัดไป ไงเพื่อน
Next%
Nike ZoomX Vaporfly Next% และนั่นคือชื่อของมัน
(แหม๋ ชื่อรุ่นรองเท้า เดี๋ยวนี้ยาวกว่าชื่อหนังแล้ว)

ตัวนี้มีอะไรดี
1 อันแรกที่เด่นชัดมากคือ โฟมส้นรองเท้าตัวใหม่ เป็นโฟมที่นุ่มกว่าเดิม และเบากว่าเดิม เบากว่าตัว Flyknit 4% เสียอีก เป็นเพราะว่ามันเบามาก Nike ถึงกับกล้าที่จะเพิ่มความหนาของส้นรองเท้าขึ้นมาถึง 15% (โอววว เพิ่มความหนาอีก ถ้าใช้โฟมเดิม ก็คงหนักเพิ่มขึ้น 15% สินะ) แน่นอน เมื่อหนาขึ้นการรับแรงก็ได้เพิ่มขึ้นไปอีก และเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งให้นักวิ่งด้วย
2 ส่วนสำคัญส่วนที่สอง คือเทคโนโลยี VaporWeave เป็นด้านบนของรองเท้า ที่ใช้เส้นใยทอพิเศษ ทำให้เนื้อผ้าที่ทอขึ้น แทบจะไม่อมน้ำหรือความชื้นเลย ตัวผ้าที่เป็นด้านบนของรองเท้าจะรีดน้ำ(เหงื่อหรือฝน)ออกจากรองเท้า ราวกับว่าทำให้มันระเหยเป็นไอ (และคำว่า ระเหย นี่เอง ที่เป็นที่มาของชื่อรุ่น Vapor ที่แปลว่าเป็นไอ) น้ำหนักของรองเท้าจึงเกือบเบาเท่าเดิมตลอดระยะเวลาวิ่ง และเส้นใยตัวนี้ดีกว่า Flyknit คำว่า Flyknit จึงตกออกไปจากชื่อรุ่น
3 พระเอกตัวสุดท้ายของรองเท้าคือแผ่น Carbon Fiber ที่อยู่เป็นแกนกลางของโฟมนุ่มๆ แกนกลางนี้เป็นเทคโนโลยีเดียวกับแผ่น Carbon Fiber เดียวกับปีกเครื่องบิน มันเป็นวัสดุที่แข็งแกร่งกว่าเหล็ก แต่เบาหวิวกว่าพลาสติก เจ้าแกนกลางนี้มีหน้าที่ 2 อย่าง อย่างแรกคือเป็นตัวรักษารูปทรงให้พื้นรองเท้านุ่มๆ แต่อย่างที่ 2 ซึ่งสำคัญกว่ามาก คือ มันเป็นแผ่นสะท้อนแรง พูดง่ายๆคือมันทำหน้าที่เหมือนสปริงที่ฝังอยู่ในรองเท้า
ซึ่งเจ้าแผ่นสปริงคาร์บอนไฟเบอร์นี่เองที่สร้างความฮือฮา ว่ามันถูกกฏหมายการวิ่งของ IAAF หรือไม่ และผ่านมา 2 ปี ที่ IAAF พิจารณาเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ประกาศซักทีว่ามันผิดหรือไม่ผิด ทำให้ยกประโยชน์ให้จำเลย ใช้รองเท้านี้ไปได้เรื่อยๆจนกว่าจะมีมติที่ชัดเจน แต่การที่บริษัทอื่นๆไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีนี้ได้ อาจจะทำให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้เปรียบเกินไปจนต้องกดดันให้ IAAF ประกาศอะไรซักอย่างออกมาในเร็วๆนี้ ยิ่ง Next% สร้างความแตกต่างได้ขนาดนี้ ยิ่งถือเป็นการกดดันมากขึ้น
พวกเรา #ทีมไทยรัน เชื่อว่าบริษัทคู่แข่งของไนกี้ ก็อาจจะทำเทคโนโลยีใกล้เคียงได้ ถ้าหาก IAAF อนุญาตเทคโนโลยีนี้กับการวิ่ง (เช่นเดียวกับการประกาศให้ไม้ recket แบบคาร์บอน ถูกกฏหมายเทนนิส) เราก็เชื่อว่าบริษัทคู่แข่งจะทยอยออกเทคโนโลยีใกล้เคียงกันมา ถึงตอนนั้นรองเท้าอาจจะมีผลมากต่อการวิ่งมากมายกว่าตอนนี้ก็เป็นได้

ถ้าเทคโนโลยีเข้ามาช่วย นักวิ่ง เช่น คิปโชเก้ หรือ โม ฟาราห์ ที่วิ่งดีเป็นทุนอยู่แล้ว ก็น่าจะทำให้การวิ่งดีขึ้น อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เราคงได้เห็น Breaking2 กำแพง 2:00:00 ชั่วโมงที่ขวางทางมาราธอนของมนุษยชาติมายาวนาน พังลงก็เป็นได้
อ่ออออ ลืมบอกไป ว่ารุ่นนี้ แทบจะหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดนะ เพราะ Nike ปล่อยออกมาไม่กี่คู่ และในร้านบางสาขาเท่านั้น ช่วงลอนดอนมาราธอน วางขายที่ราคา 250 ปอนด์ (หรือประมาณ 10,400 บาท) โค้ชม้อค ตระเวณออกล่าทุกร้านกีฬา ไม่เห็นแม้แต่เงาซักคู่เดียว – ราคาในตลาดออนไลน์ สูงแค่ไหนคงไม่ต้องพูดถึง
#ThaiRun | คิดถึงเรื่องวิ่ง คิดถึงไทยรัน
—
สมัครวิ่ง http://race.thai.run/
ค้นรูปวิ่ง http://photo.thai.run/
อ่านเรื่องวิ่ง https://read.thai.run/
ซื้ออุปกรณ์วิ่ง http://shop.thai.run/
เวอร์ช่วลรัน http://run.thai.run/
© บทความชิ้นนี้เป็นลิขสิทธิ์เพจไทยรัน ในกรณีนำไปใช้กรุณาแจ้งเราอย่างถูกต้อง